ยาคุมฉุกเฉิน ควรใช้เมื่อไหร่ ช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ได้อย่างไร

มีหลายกรณีที่มีเหตุการณ์มีเพศสัมพันธ์โดยที่ไม่ได้ใช้ถุงยางอนามัย จึงเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ตามมาได้ ดังนั้นหากยังไม่พร้อมที่จะตั้งครรภ์ การกินยาคุมฉุกเฉินจึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่สามารถทำได้

ยาคุมฉุกเฉิน คืออะไร?

ยาคุมฉุกเฉิน คือ ยาเม็ดฮอร์โมนใช้รับประทานหลังจากที่มีเพศสัมพันธ์ เพื่อช่วยลดโอกาสในการตั้งครรภ์ ซึ่งการคุมกำเนิดด้วยวิธีนี้จะช่วยลดโอกาสการตั้งครรภ์โดยที่ยังไม่พร้อมได้ประมาณ 80-90% โดยจะไปรบกวนการปฏิสนธิของไข่และอสุจิ แต่ถ้ามีการปฏิสนธิจนกลายเป็นตัวอ่อนแล้ว ก็ไม่สามารถที่จะป้องกันได้

ยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน ให้ใช้ในกรณีที่ไม่ได้ใช้การคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่นๆ หรือกรณีการคุมกำเนิดมีความผิดพลาด เช่น ถุงยางแตกหรือรั่วในขณะที่มีเพศสัมพันธ์ นับระยะปลอดภัยที่จะไม่ท้องผิด และยาคุมกำเนิดฉุกเฉินจะไม่ช่วยป้องกันโรคที่อาจเกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ เช่น โรคหนองใน ซิฟิลิส โรคเอดส์ เป็นต้น

ยาคุมฉุกเฉิน มีการทำงานอย่างไร

ยาคุมกำเนิดแบบฉุกเฉินจะออกฤทธิ์ยับยั้งหรือทำให้การตกไข่ชะลอออกไป การรับประทานยาคุมกําเนิดฉุกเฉินจะทำให้ฮอร์โมนมีการเปลี่ยนแปลง จึงอาจส่งผลให้เยื่อบุโพรงมดลูกไม่เหมาะสำหรับการฝังตัวของไข่ที่ได้มีการผสมแล้ว และอาจส่งผลต่อการเดินทางของไข่ที่ได้ถูกผสม

วิธีรับประทานยาคุมฉุกเฉิน

  • หลังจากมีเพศสัมพันธ์ควรที่จะรีบรับประทานยาคุมแบบฉุกเฉินให้เร็วที่สุด
  • หลังจากที่มีเพศสัมพันธ์ ให้กินยาเม็ดแรกก่อน แล้วอีก 12 ชั่วโมงค่อยกินอีกเม็ด หรือจะกินยา 2 เม็ดพร้อมกันเลยก็ได้ โดยประสิทธิภาพก็จะไม่ได้แตกต่างจากการแบ่งรับประทานสองครั้ง แต่การรับประทานพร้อมกัน 2 เม็ด ก็อาจทำให้คลื่นไส้ อาเจียนได้
  • หากมีอาการอาเจียนหลังจากกินยาได้ 2 ชั่วโมง ควรกินยาซ้ำ
  • หากไม่สามารถที่จะกินยาได้ในทันที ก็ให้กินหลังจากนั้นได้ แต่ไม่ควรนานเกิน 72 ชั่วโมง หลังจากที่มีเพศสัมพันธ์
  • ในรอบเดือนเดียว ไม่ควรกินมากกว่า 2 แผง หรือ 4 เม็ด เพราะยาอาจส่งผลให้ระบบสืบพันธ์สร้างฮอร์โมนที่มีความผิดปกติได้
  • ให้ใช้เพื่อลดโอกาสการตั้งครรภ์ในกรณีมีเพศสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นแบบฉุกเฉินและไม่ได้มีการป้องกันเท่านั้น เพราะถ้าหากกินยาคุมกำเนิดฉุกเฉินบ่อยๆ อาจส่งผลให้การคุมกำเนิดนั้นไม่ได้ผล นอกจากนี้ก็ไม่ควรใช้ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินแทนยาคุมแบบปกติ

ผลข้างเคียง

บางรายที่รับประทานยาคุมกำเนิดฉุกเฉินอาจมีอาการอาเจียน คลื่นไส้ ประจำเดือนมาเร็วกว่าปกติหรือมาช้าลง บางรายอาจส่งผลให้มีอาการปวดท้อง เจ็บคัดบริเวณเต้านม มีภาวะเลือดออกมากหรือเลือดออกกะปริดกะปรอยคล้ายกับประจำเดือน

การกินยาคุมกำเนิดแบบฉุกเฉินไม่สามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้พบว่าผู้ที่กินยาคุมกำเนิดฉุกเฉินด้วยวิธีที่ถูกต้อง พบอัตราการตั้งครรภ์เกิดขึ้นประมาณร้อยละ 2 ส่วนผู้ที่ไม่ได้รับประทานยา มีโอกาสในการตั้งครรภ์ประมาณร้อยละ 8 ซึ่งแม้จะรับประทานยาคุมฉุกเฉินก็มีโอกาสในการตั้งครรภ์นั่นเอง