การวางศิลาฤกษ์ พิธีกรรมก่อนการก่อสร้าง เพื่อความเป็นสิริมงคล

การวางศิลาฤกษ์ ตามความเชื่อ และตามวัฒนธรรมประเพณีของชาวไทยเรา เชื่อกันว่าทุกแห่งหนจะมีสิ่งที่มองไม่เห็นปกปักรักษาหรืออาศัยอยู่ ก่อนทำการก่อสร้างใด ๆ จึงควรทำการขออนุญาต ขอขมาลาโทษ ตลอดจนถือโอกาสขอพร เพื่อให้การก่อสร้างเป็นไปอย่าราบรื่น ผู้อยู่อาศัยหรือการประกอบธุรกิจมีความสำเร็จ โดยพิธีกรรมที่นิยมใช้กันในช่วงเริ่มงานก่อสร้าง มักพบเห็นได้บ่อยจะมี 4 รูปแบบ ได้แก่ พิธีลงเสาเข็มต้นแรก พิธียกเสาเอก พิธีก่อฤกษ์ และพิธีวางศิลาฤกษ์ ซึ่งในบทความนี้เราจะมีพูดถึงพิธีวางศิลาฤกษ์กันว่าคืออะไร

การวางศิลาฤกษ์ คืออะไร

พิธีวางศิลาฤกษ์คือ การวางแผ่นศิลาจารึกดวงฤกษ์ลงไป มีการบันทึกจดหมายเหตุหรือคำปณิธานในการจัดสร้าง ดังนั้นต้องนำไปแกะสลักกับหิน เป็นศิลาจารึกเพื่อไม่ให้ลบเลือน ในบางพิธีอาจมีการใส่เงินตราที่ใช้ลงไปด้วย เพื่อให้คนรุ่นหลังได้ทราบถึงประวัติที่มาของอาคาร โดยต้องทำในฤกษ์ที่เป็นมงคล แผ่นศิลาฤกษ์จะวางไว้บริเวณของสถานที่ที่จะมีการก่อสร้างซึ่งจะมักจะเป็นอาคารสาธารณะที่มีขนาดใหญ่ เช่น ที่ทำการของภาครัฐ ตึก อาคาร ที่จะคงอยู่ถาวร รวมไปถึง อาคารทางศาสนา โบสถ์ วัด เป็นต้น โดยอาคารหลังแรกที่มีพิธีวางศิลาฤกษ์ในประเทศไทยก็คือ วังบูรพาภิรมย์ เมื่อปี พ.ศ. 2419

วัตถุประสงค์ การวางศิลาฤกษ์

  • เพื่อขอขมาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อารักขาใต้ดิน และพิธีขอขมาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อารักขาเหนือดิน เป็นการสร้างความเป็นสิริมงคลต่อผู้ที่จะอยู่อาศัยภายในอาคาร ให้มีความเจริญรุ่งเรือง มีความมั่นคง และอยู่เย็นเป็นสุข ปราศจากโรคภัยอันตราย
  • การที่เจ้าภาพกับญาติมิตรที่ได้ร่วมใจกันในการประกอบพิธีศาสนาตามความเชื่อ ถือเป็นการเสริมสร้างส่งเสริมความสามัคคี เพิ่มพูนบุญกุศลร่วมกัน

การวางศิลาฤกษ์ สามารถรื้อได้หรือไม่

เมื่อทำพิธีวางศิลาฤกษ์เสร็จสิ้น แต่การก่อสร้างอาคารยังไม่เสร็จสามารถรื้อศิลาฤกษ์ได้ โดยจะรื้อช่วงไหนก็ได้ แต่ให้นำไปไว้ในที่ปลอดภัย เมื่อการก่อสร้างอาคารเสร็จสมบูรณ์ก็นำกลับมาติดไว้ในที่เหมาะสมเห็นง่าย และทำให้ดูสวยงาม เพื่อผู้มาเยือนจะได้อ่านประวัติได้ง่าย และชัดเจน

การวางศิลาฤกษ์ เป็นพิธีกรรมหนึ่งนิยมใช้ในช่วงเริ่มงานก่อสร้างอาคารสาธารณะขนาดใหญ่ ซึ่งยังมีอีกหลายพิธีที่ต้องทำเช่นในการตั้งศาลพระภูมิ ศาลเจ้าที่ รวมไปถึงอาจมี พิธีลงเสาเข็มต้นแรก พิธียกเสาเอก พิธีก่อฤกษ์ ร่วมด้วยทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้อยู่อาศัยหรือเจ้าของอาคารนั้น ๆ