ฮอร์โมน เป็นสารเคมีในร่างกายที่เอาไว้สื่อสารและทำหน้าที่ร่วมกับอวัยวะต่างๆ ซึ่งแต่ละคนจะมีระดับฮอร์โมนมากน้อยแตกต่างกันไป แล้วทราบกันไหมว่าฮอร์โมนสำคัญๆในร่างกายมีอะไรบ้าง และทำหน้าที่อะไร เพื่อที่จะรับมือกับการผันผวนของฮอร์โมนได้อย่างเหมาะสม
ฮอร์โมนหลักๆที่เราควรรู้มีดังนี้
1. เอ็นโดรฟิน (Endorphin)
เป็นฮอร์โมนที่หลั่งออกมาจากใต้สมองที่รู้จักกันในชื่อ ‘สารสุข’ เปรียบเสมือนมอร์ฟีนธรรมชาติที่ร่างกายหลั่งขึ้นมาก็ต่อเมื่อมนุษย์มีความสุข ความพึงพอใจ ผ่อนคลาย และหลั่งเพื่อกระตุ้นความรู้สึกในแง่บวก
2. โดพามีน (Dopamine)
เป็นฮอร์โมนที่เกี่ยวกับความรัก และยินดี เกี่ยวเนื่องกับระบบประสาทหลายๆ ส่วน เช่น การเคลื่อนไหว ความจำ และการเรียนรู้ ถ้าโดพามีนในร่างกายของเราต่ำเกินไปจะทำให้มีความรู้สึกหดหู่และซึมเศร้าได้
3.เซโรโทนิน (Serotonin)
เป็นสารต้านความเครียดที่หลั่งจากสมองและหลั่งจากทางเดินอาหารที่มีผลกับการทำงานของกล้ามเนื้อ อารมณ์ และพฤติกรรม และการนอนหลับ ถ้าระดับฮอร์โมนต่ำเกินไปจะทำให้เราหงุดหงิด นอนไม่ค่อยหลับ ไม่มีสมาธิ มีภาวะปวดศีรษะ เป็นไมเกรน
4. คอร์ติซอล (Cortisol)
ถือเป็นสเตียรอยด์ชนิดหนึ่งที่ร่างกายสามารถสังเคราะห์ได้เอง เมื่อมีภาวะเครียด กังวล หรือเจ็บป่วยไข้ ฮอร์โมนตัวนี้จะหลั่งมากขึ้นเพื่อเตรียมพร้อมต่อการฟื้นฟูร่างกาย กระตุ้นให้ตับสร้างน้ำตาลมากขึ้น จึงทำให้กินเยอะขึ้น และหิวบ่อยขึ้น
5. อะดรีนาลีน (Adrenaline)
อะดรีนาลีน(Adrenaline) หรือ อิพิเนฟริน (Epinephrine) เป็นฮอร์โมนที่หลั่งจากต่อมหมวกไต เป็นสารแห่งความโกรธ การป้องกันตัว และตอบสนองต่อภาวะฉุกเฉิน ทำให้หัวใจเต้นแรง และทำในสิ่งที่เมื่อก่อนไม่สามารถทำได้ เช่น ยกของหนักเมื่อเกิดไฟไหม้
6. เทสโทสเตอโรน (Testosterone)
ฮอร์โมนเพศชายที่หลั่งมาจากอัณฑะ ทำให้ร่างกายเปลี่ยนแปลงตั้งแต่เด็กจนโตลักษณะเป็นผู้ชาย ถ้าหากมีฮอร์โมนเพศชายต่ำจะมีการพัฒนาเป็นเพศชายที่ไม่สมบูรณ์ หากเกิดลดลงก่อนวัยอันควรจะมีผลกับกล้ามเนื้อ มวลของกระดูก และการมีเพศสัมพันธ์
7. เอสโตรเจน (Estrogen)
ฮอร์โมนเพศหญิง ผลิตจากรังไข่ และทำให้ลักษณะร่างกายของผู้หญิงมีการเติบโต ช่วยในเรื่องการทำงานของกล้ามเนื้อและกระดูก ถ้าหากเอสโตรเจนลดลง มีความเสี่ยงที่กระดูกจะบางมากขึ้น กล้ามเนื้อไม่ค่อยแข็งแรง
8. โปรเจสเตอโรน (Progesterone)
เป็นฮอร์โมนที่เกี่ยวกับการตั้งครรภ์ ส่วนใหญ่จะสูงขึ้นในช่วงที่จะตั้งครรภ์หรือมีรอบเดือน เตรียมพร้อมที่จะให้ไข่ที่ได้รับจากสเปิร์มแล้วมาฝังตัว ถ้าไม่มีการฝังตัวของตัวอ่อนระดับโปรเจสเตอโรนจะลดลง
ฮอร์โมนต่างๆมีความสำคัญต่อร่างกาย การเพิ่มหรือลดลงของฮอร์โมนขึ้นอยู่กับการพฤติกรรมการใช้ชีวิตของแต่ละคน และจากสารเคมีที่ได้รับเข้าไป การรักษาสมดุลของฮอร์โมนจะทำให้เราห่างไกลโรค